เกี่ยวกับเรา ติดต่อเรา ค้นหา


ว 634/2554 ซักซ้อมแนวทางการพิจารณาคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาในสาขาวิชาที่เห็นว่ามีความรู้เทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง


อ้างถึง ว 13/2554 การปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ


ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักงาน ก.พ. แจ้งมติ ก.พ. ให้ อ.ก.พ. กรม เป็นผู้พิจารณาคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งสำหรับปริญญาในสาขาวิชาที่เห็นว่ามีความรู้เทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ซึ่งมีความเหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติ จำนวน ๖๔ สายงาน ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

เพื่อให้การพิจารณาคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาในสาขาวิชาที่เห็นว่ามีความรู้เทียบได้ในระดับเดียวกันกับสาขาวิชาที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของ อ.ก.พ. กรม ดังกล่าวข้างต้น มีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงขอซักซ้อมแนวทางการพิจารณาคุณวุฒิการศึกษาดังกล่าว ดังต่อไปนี้

๑. คุณวุฒิการศึกษาที่จะนำมาพิจารณาจะต้องเป็นคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาที่ ก.พ. รับรอง

๒. การนำคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญามาเทียบ จะต้องเทียบกับสาขาวิชาหรือทางที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้น ๆ โดยมีแนวทางในการพิจารณาคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาดังกล่าวว่ามีความรู้เทียบได้กับสาขาวิชาหรือทางที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ดังนี้

    ๒.๑   กรณีใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) ระบุสาขาวิชา (discipline) หรือวิชาเอก (major) ที่ศึกษาไว้ ให้พิจารณาจากใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

           ตัวอย่างที่ ๑ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสถิติ กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งในส่วนของคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทหรือปริญญาเอก ว่า “สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ หรือสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ทางประชากรศาสตร์”

           ดังนั้น ปริญญาที่ อ.ก.พ. กรม อาจนำมาพิจารณาเทียบได้ ตัวอย่าง เช่น

           ๑) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คือ ปริญญาที่ปรากฏในใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) ที่ระบุคำว่า คณิตศาสตร์และสถิติ หรือคณิตศาสตร์ หรือสถิติ เช่น คณิตศาสตร์ประยุกต์ หรือสถิติประยุกต์ เป็นต้น

           ๒) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ ปริญญาที่ปรากฏในใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) ที่ระบุคำว่า เศรษฐศาสตร์ เช่น เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ เป็นต้น

           ๓) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ ทางประชากรศาสตร์ คือ ปริญญาที่ปรากฏในใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) ที่ระบุคำว่าประชากร เช่น ประชากรศึกษา เป็นต้น

    ๒.๒   กรณีใบปริญญาบัตร หรือใบแสดงรายวิชาที่ศึกษา (Transcript of records) มิได้ระบุสาขาวิชา (discipline) หรือวิชาเอก (major) ที่ศึกษาไว้ หรือระบุไว้แตกต่างจากสาขาวิชาหรือทางที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ให้พิจารณาจากจำนวนหน่วยกิตของรายวิชา (course) ที่ศึกษาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ระดับปริญญาตรี ไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต ระดับปริญญาโท ไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต ระดับปริญญาเอกพิจารณาจากรายวิชาและ/หรือสาระของวิทยานิพนธ์

           ตัวอย่างที่ ๒ มาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสถิติ กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งในส่วนของคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทหรือปริญญาเอก ว่า “สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ หรือสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ หรือสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ทางประชากรศาสตร์”

           ดังนั้น ปริญญาที่ อ.ก.พ. กรม อาจนำมาพิจารณาเทียบได้ ตัวอย่าง เช่น

           ๑) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คือ ปริญญาที่มีรายวิชา (course) ที่ศึกษาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต หรือสถิติไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต สำหรับปริญญาตรี หรือไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต สำหรับปริญญาโท และพิจารณาจากรายวิชาและหรือ/สาระของวิทยานิพนธ์สำหรับระดับปริญญาเอก

           ๒) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ ปริญญาที่มีรายวิชา (course) ที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต สำหรับปริญญาตรี หรือไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิต สำหรับปริญญาโท และพิจารณาจากรายวิชาและ/หรือสาระของวิทยานิพนธ์สำหรับระดับปริญญาเอก

           ๓) ปริญญาที่อาจนำมาเทียบกับสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ทางประชากรศาสตร์ คือ ปริญญาที่มีรายวิชา (course) ที่ศึกษาเกี่ยวกับประชากรศาสตร์ไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต สำหรับปริญญาตรี หรือไม่น้อยกว่า ๑๕ หน่วยกิจ สำหรับปริญญาโท และพิจารณาจากรายวิชา และ/หรือสาระของวิทยานิพนธ์สำหรับระดับปริญญาเอก

๓. ในกรณีที่ อ.ก.พ. กรม ไม่สามารถพิจารณาได้ว่ารายวิชา (course) ที่ศึกษาเป็นการศึกษาในสาขาวิชาหรือทางใด ให้หารือสถาบันการศึกษาที่ผู้นั้นสำเร็จการศึกษาว่ารายวิชา (course) ดังกล่าวเป็นการศึกษาในสาขาวิชาหรือทางที่ต้องการพิจารณาหรือไม่

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ได้แจ้งกรมและจังหวัดทราบด้วยแล้ว



อ้างถึง :

ปีที่ออกหนังสือเวียน

เลขที่หนังสือ

นร 1008.3.2/ว 634

วันที่ออกหนังสือเวียน

22 ธ.ค. 2554

สถานะการบังคับใช้

Tags
ผู้รับผิดชอบ

สำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน

โทรศัพท์ (ภายนอก) 0 2547 1959

โทรสาร 0 2547 1437



สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

Office of the Civil Service Commission (OCSC)